โดยปกติแล้ว เมื่อมีอาการไอ อาการดังกล่าวมักจะหายไปเองภายในระยะเวลาประมาณ 3 สัปดาห์ ซึ่งบางรายแทบจะไม่ต้องรับการรักษาใดๆ เลย แต่หากมีอาการไอแบบเรื้อรัง สิ่งที่ควรทำทันทีเมื่อรู้ตัวว่าอาการไอที่เป็นอยู่นั้น ผ่านระยะเวลามามากกว่า 4 สัปดาห์ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เอาเป็นว่าตามมาดูสาเหตุของอาการไอที่เกิดขึ้นชั่วคราวและเรื้อรัง พร้อมทั้งวิธีแก้ไอที่สามารถทำได้เองกันดีกว่าค่ะ

อาการไอคืออะไร

อาการไอ คือปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกาย เพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอมหรือของเสียต่างๆ ที่ทำให้ทางเดินหายใจเกิดการระคายเคือง ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นหรือควันก็ตาม ซึ่งอาการไอจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทด้วยกันนั่นก็คือ ไอแบบแห้งและไอแบบมีเสมหะ โดยส่วนใหญ่อาการไอมักจะไม่ได้เป็นสัญญาณของโรคหรือภาวะรุนแรงใดๆ ทั้งนี้อาการไอมักจะหายไปเองภายในระยะเวลา 3 สัปดาห์ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาแต่อย่างใด แต่ในบางกรณีที่มีอาการไอที่คงอยู่เป็นระยะเวลานาน ผู้ป่วยควรรีบพบแพทย์ทันที

สาเหตุของอาการไอแบบเฉียบพลันหรือชั่วคราว

อาการไอที่เกิดขึ้นชั่วคราวหรือที่เรียกว่าชนิดเฉียบพลัน จะมีระยะเวลาไอน้อยกว่า 3 สัปดาห์ ซึ่งเป็นอาการไอที่มีสาเหตุดังนี้

1.เกิดจากการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบน หรือที่เรียกว่า Upper Respiratory Tract infection (URTI) และส่งผลกระทบกับคอ ท่อลม และไซนัส ทำให้เกิดอาการไข้หวัด กล่องเสียงอักเสบ โพรงจมูกอักเสบ หรือโรคไอกรน

2.เกิดจากการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง หรือที่เรียกว่า Lower Respiratory Tract Infection (LRTI) และส่งผลกระทบต่อปอดหรือทางเดินหายใจส่วนล่าง ทำให้เกิดอาการปอดบวมหรือหลอดลมอักเสบ

3.เกิดจากการเป็นภูมิแพ้ ทำให้เป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้หรือโรคไข้ละอองฟาง

4.เกิดจากการที่อาการไอกำเริบจากทางเดินหายใจเรื้อรังบางโรค ทำให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง โรคหืด หรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

5.เกิดจากการสูดสารต่างๆ ที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง เช่น ฝุ่น ควัน เป็นต้น

สาเหตุของอาการไอเรื้อรัง

อาการไอเรื้อรังถือเป็นหนึ่งในสัญญาณของโรคหรือภาวะรุนแรงต่างๆ เช่น ภาวะหัวใจวาย โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด วัณโรค และมะเร็งปอด แม้จะพบได้น้อยมาก แต่ก็ควรระมัดระวังจะดีที่สุด ทั้งนี้อาการไอเรื้อรังจะมีระยะเวลาไอติดต่อกันนาน 4 สัปดาห์ขึ้นไปสำหรับเด็ก และ 8 สัปดาห์ขึ้นไปสำหรับผู้ใหญ่ โดยสาเหตุต่างๆ ที่ทำให้เกิดอาการไอเรื้อรังมีดังนี้

1.เกิดจากการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง เช่น โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง

2.เป็นโรคหืด ซึ่งทำให้เกิดอาการไอ หายใจมีเสียง หายใจตื้น และแน่นหน้าอก

3.เป็นโรคหลอดลมโป่งพอง ซึ่งเป็นภาวะที่หลอดลมโป่งกว้างหรือพองออกจนผิดปกติถาวรจากการอักเสบ

4.เป็นโรคภูมิแพ้ เช่น แพ้อาหาร แพ้ไรฝุ่น หรือแพ้ยาบางชนิด

5.เป็นวัณโรค ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย จึงทำให้เกิดอาการไอเรื้อรังเป็นระยะเวลานานถึง 3 สัปดาห์ขึ้นไป รวมทั้งอาจมีอาการไอเป็นเลือด และมีไข้ต่ำๆ

6.มีน้ำมูกไหลลงคอ หรืออาจเกิดจากการเป็นโรคเยื่อจมูกอักเสบหรือโพรงจมูกอักเสบ

7.เกิดจากการเป็นโรคกรดไหลย้อน

8.เกิดจากการสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เสี่ยงทำให้เกิดโรคร้ายแรง ตลอดจนทำให้เกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ซึ่งก็ทำให้เกิดอาการไอเช่นกัน

9.เกิดจากการใช้ยาบางชนิด โดยเฉพาะยาลดความดันโลหิต

วิธีแก้ไอที่สามารถทำได้เองง่ายๆ

นอกจากสาเหตุต่างๆ ที่ทำให้เกิดอาการไอแล้ว สิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กันก็คือวิธีแก้ไอ ซึ่งล้วนเป็นวิธีที่สามารถทำได้เองดังนี้

1.หมั่นดื่มน้ำอุณหภูมิห้องในปริมาณมากๆ เพื่อช่วยเจือจางเสมหะ บรรเทาอาการระคายเคืองคอหรือคอแห้ง ซึ่งจะทำให้อาการไอลดน้อยลงได้

2.ดื่มน้ำอุ่น หรือน้ำอุ่นผสมน้ำผึ้งและน้ำมะนาวสด มีส่วนช่วยให้รู้สึกชุ่มคอ และช่วยบรรเทาอาการไอได้เป็นอย่างดี

3.เมื่อมีอาการไอหรือรู้สึกระคายเคืองคอ สามารถอมยาอมเพื่อลดอาการระคายเคืองคอได้เช่นกัน

4.ใช้สเปรย์ผสมคาโมไมล์เพื่อบรรเทาอาการเจ็บคอหรือระคายเคืองภายในลำคอ

5.อาบน้ำอุ่นช่วยบรรเทาอาการไอจากไข้หวัดและภูมิแพ้ได้ดี

6.นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

7.หนุนหมอนสูงขณะนอนหลับ ช่วยบรรเทาอาการไอแห้งได้

8.ใช้เครื่องทำความชื้นในอากาศ โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในสถานที่ที่มีอากาศแห้ง จะส่งผลให้สารคัดหลั่งในจมูกหรือน้ำมูกแห้งตัว ส่งผลให้คัดจมูกและรู้สึกไม่สบาย รวมทั้งอาจทำให้เกิดอาการไอตามมา

9.หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ทุกชนิด โดยเฉพาะในขณะที่มีอาการไอ

10.หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำหอม ซึ่งจะทำให้โพรงจมูกเกิดการระคายเคืองเรื้อรัง และทำให้มีเสมหะเพิ่มมากขึ้นจนทำให้เกิดอาการไอเรื้อรังได้ในที่สุด

11.หลีกเลี่ยงการสูดดมสิ่งที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง เช่น ฝุ่น ควัน และมลพิษต่างๆ ซึ่งสามารถป้องกันได้ด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัย หรือใช้ผ้าปิดจมูกและปากทุกครั้งที่ต้องผ่านสถานที่ที่มีฝุ่นควัน

นอกจากนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ป่วยที่มีอาการไอควรหมั่นสังเกตความรุนแรงหรือระยะเวลาการไอในแต่ละครั้ง เพื่อที่จะได้ทราบว่าอาการไอที่เป็นอยู่นั้นคือประเภทไอชั่วคราวหรือไอแบบเรื้อรัง และหากมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้สูง หายใจตื้น หายใจลำบาก หรือหายใจมีเสียง ควรพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพร่างกายนั่นเอง